วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2558


ควรเลือกดื่มน้ำผลไม้แบบไหน




          การดื่มน้ำผลไม้ให้ภาพลักษณ์ที่ดูดี (ว่าเป็นคนที่รักสุขภาพ) ขณะเดียวกันการโฆษณาหรือกล่องสวยๆ ของเครื่องดื่ม ก็มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อไม่น้อย อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ให้คำแนะนำในการเลือกดื่มน้ำผลไม้ให้ได้ประโยชน์ว่า

          พูดถึงน้ำผลไม้ ผมขอรวมเอาน้ำสมุนไพรที่กำลังเห่อกันอย่างน้ำลูกยอ หรือน้ำผักปั่นเข้าไปด้วย สิ่งที่น่าห่วงคือการที่ผู้ขายใส่น้ำตาลจนหวานเจี๊ยบ จนแทบไม่มีกลิ่นหรือมีรสของสมุนไพรเลยจริงๆ แล้วตามความหมายของน้ำสมุนไพร คือ ต้องมีกลิ่นสมุนไพรนำหน้า ไม่ใช่กลิ่นหรือความหวานของน้ำตาลนำหน้า อาจหวานนิดหน่อยปะแล่มๆ น้ำผลไม้หรือน้ำสมุนไพรที่หวานจัด น้ำตาลที่สะสมมากๆ นี่แหละ ที่จะเปลี่ยนเป็นไขมันแล้วทำให้อ้วนได้

         ข้อเสียของการดื่มน้ำผลไม้ที่หวานจัด คือ เด็กๆ ที่กินหวานมากจะไม่รู้สึกหิวข้าวซึ่งเป็นอาหารหลัก ผลคือ อาจทำให้ขาดสารอาหาร  ทำให้เด็กติดรสหวาน ทำให้ฟันผุ ถ้าจะดื่มน้ำผลไม้แทนการดื่มน้ำอัดลมเป็นครั้งคราว หรือวันละ ๑-๓ แก้ว เพื่อดับกระหาย เพื่อความสดชื่นก็สามารถดื่มได้ ถ้าจะให้ดีก็ควรเป็นน้ำผลไม้ที่ไม่เติมน้ำตาล แต่ถ้าจะดื่มน้ำผลไม้แทนการกินผลไม้ ผมไม่สนับสนุน"

น้ำผลไม้ยูเอชทีเพิ่มวิตามิน

        ดังเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า น้ำผลไม้ที่คั้นสดๆ แล้วดื่มทันที จะให้วิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย โดยเฉพาะวิตามินซี แต่ถ้าเป็นน้ำผลไม้ที่ผ่านกระบวนการ เช่น น้ำผลไม้บรรจุขวด หรือบรรจุกล่องประเภทยูเอชทีทั้งหลาย แน่นอนว่าวิตามินสำคัญ เช่น วิตามินซี หรือวิตามินเอ สลายไปหมดไม่มีเหลือแล้ว

       รู้อย่างนี้ บรรดาผู้ผลิตน้ำผลไม้ประเภทต่างๆ จึงเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ โดยการเติมวิตามินต่างๆ เช่น วิตามินเอ วิตามินซี และวิตามินอี ลงไปเพื่อเสริมส่วนขาด (และเพื่อเป็นการส่งเสริมการขายด้วย) วิตามินที่เติมลงไปในน้ำผลไม้จะ ให้ประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากน้อยแค่ไหน เรื่องนี้อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ให้ความรู้ว่า

      โดยหลักการ การเติมสารอาหารลงไป เขาจะเติมให้ได้ปริมาณ ๑ ใน ๓ ที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน แต่ต้องยอมรับว่า วิตามินเอ วิตามินซี เมื่อเจอความร้อนจะถูกออกซิไดซ์ (ทำปฏิกิริยากับอากาศ) เพราะฉะนั้นผู้ผลิตส่วนใหญ่ ก็จะเติมวิตามินเหล่านี้ในปริมาณมาก เผื่อการสูญสลายเอาไว้ด้วย หรือบางยี่ห้ออาจใช้วิธีบรรจุเครื่องดื่มในกล่องทึบแสง ซึ่งก็ช่วยให้วิตามินเหล่านั้นคงอยู่ได้ระยะเวลาหนึ่ง

       แต่ไม่ได้หมายความว่าวิตามินที่เติมลงไปจะอยู่ได้ยืนยาวตลอดเวลาจนถึงวันหมดอายุ วิตามินที่เติมลงไปในน้ำผลไม้ อาจทำให้ผู้บริโภคได้รับสารอาหารบ้างแต่ไม่มาก ไม่อยากให้ประชาชนผู้บริโภค ตื่นกระแสน้ำผลไม้ที่เติมวิตามิน แล้วอุปาทานเหมือนกับว่าดื่มน้ำผลไม้แล้วได้รับประโยชน์มากมาย โดยไม่กินผักและผลไม้ ซึ่งจะทดแทนกันไม่ได้

        อยากบอกว่า การกินผลไม้ทุกชนิดโดยตรง แล้วดื่มน้ำเปล่าๆ จะได้ประโยชน์กว่าการดื่มน้ำผลไม้ ยกตัวอย่าง เช่น กินส้ม ๑ ผล กินน้ำส้มคั้น ๑ แก้ว (ที่คั้นสดๆ) ที่หากทิ้งไว้ไม่นาน ก็อาจมีวิตามินซีอยู่บ้าง มีไฟเบอร์เล็กน้อย นอกนั้นก็เป็นน้ำ เป็นน้ำตาล ส่วนธาตุอาหารอย่างอื่นเรียกว่ามีอยู่น้อยมาก แต่ถ้าเรากินผลไม้สด กินส้ม ๑ ผล ขณะที่ปอกเปลือกแล้วกินทันที เราจะได้วิตามินซีแบบเต็มๆ และได้วิตามินอื่นๆ เช่น วิตามินเอ หรือบีตาแคโรทีน เรียกว่า มีประโยชน์มากกว่ากันแน่นอน"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น